สาระน่ารู้ ตลาดถ่านอัด (Charcoal Briquette)

Attention: open in a new window. PDFPrintE-mail

  สาระน่ารู้ เกี่ยวกับ ตลาดถ่านอัด (Charcoal Briquette)

ตลาดถ่านอัด (Charcoal Briquette) ในสหรัฐอเมริกา

กรมส่งเสริมการส่งออก -- จันทร์ที่ 25 มกราคม 2553 17:32:11 น.

ภาพรวมของสินค้า

ถ่านเป็นเชื้อเพลิงให้พลังงานความร้อนที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนอเมริกัน และในกระบวนการการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการคมนาคมมานานกว่า 200 ปี ต่อมาเมื่อพลังงานแก๊สและไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทแทนที่ ความสำคัญของการใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงก็ลดน้อยลงไปเป็นลำดับ

ถ่านอัดถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ โดย Mr. Ellsworth B.A. Zwoyer ในรัฐPennsylvania เมื่อปี ค.ศ. 1897 (พ.ศ.2440) ต่อมา Henry Fordได้คิด Charcoal Briquette ผลิตจาก เศษไม้ขี้เลื่อย และขายลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัท E.G. Kingsford ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิต/จำหน่ายถ่านอัดรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 80

การผลิตถ่านอัดภายในสหรัฐฯ มีปริมาณลดลงเป็นลำดับในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาโดยหันไปเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศแทนปริมาณ การผลิต ถ่านอัดในสหรัฐฯ ในปี 2552 มีจำนวน89.75 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 940 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ช่วงเวลาที่ถ่านอัดจำหน่ายได้ดีที่สุดของสหรัฐฯ คือ วัน Memorial Day วัน Labor Day และ วัน Independent Day ซึ่งเป็นวันหยุดทั่วประเทศ ของสหรัฐฯที่ผู้คนส่วนใหญ่จัดงานเลี้ยงแบบบาร์บีคิว

สินค้าถ่านอัดในตลาดสหรัฐฯ

ความต้องการใช้ถ่านในสหรัฐฯ แยกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ถ่านเชื้อเพลิง ผู้บริโภคนิยม ใช้เพื่อให้ความร้อนในการประกอบอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะการปิ้งและการย่างเนื้อสัตว์ (BBQ)หรือการใช้ในบ้านเป็นเชื้อเพลิงในเตาผิงเพื่อให้ ความอบอุ่นภายในบ้านช่วงฤดูหนาว และถ่านกัมมันต์(Activated Carbon) ซึ่งอุตสาหกรรรมการผลิตนำไปใช้ในการดูดซับสารต่างๆ การกำจัดคลอลีน เป็นตัวกรองน้ำดื่ม ดูดซับกลิ่นดูดซับควันพิษ วงการแพทย์นำมาใช้เป็นยาเพื่อดูดซับเชื้อโรคทางเดินอาหาร เป็นต้น

การผลิตถ่านอัดที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ผลิตจากวัสดุเศษไม้เนื้อแข็ง (Hardwood)ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ตามท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ เป็นสินค้ามีจำหน่ายในท้องตลาดถึงร้อยละ 85 ในขณะถ่านอัดที่ผลิตจากกะลามะพร้าว (Coconut Shell ) และ ขี้เลื่อย (Dust) มีสัดส่วนตลาดเพียงร้อยละ 15และส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแหล่งนำเข้าในเอเซีย เช่น อินโดนิเซีย ไทยอินเดีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ มักจะเป็นถ่านอัดกะลามะพร้าว (Coconut Charcoal Briquette) ซึ่งเป็นวัตถุเหลือใช้ที่มีทั่วไปในกลุ่มประเทศเหล่านี้

การนำเข้าสินค้าถ่านอัดของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าถ่านอัดในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2552 เป็นมูลค่าประมาณ 23.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.24 โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เม็กซิโก (ร้อยละ 46.40) อาร์เจนติน่า (ร้อยละ 14.82) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 13.13) จีน (ร้อยละ 4.38) และ บราซิล (ร้อยละ 3.65) และ นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 37,000 เหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 0.19)

การนำเข้าสินค้าถ่านอัดของสหรัฐอเมริการะหว่าง มกราคม-พฤศจิกายน 2552

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แหล่งนำเข้า                      2551     2552      เพิ่ม/ลด(%)    สัดส่วนตลาด

1. เม็กซิโก                      8.02     9.28        15.74        46.40

2. อาร์เจนติน่า                   1.76     2.97        68.18        14.82

3. เนเธอร์แลนด์                  2.02     2.63        29.84        13.13

4. จีน                          2.12     0.88       -58.56         4.38

5. บราซิล                       0.39     0.73        88.05         3.65

20. ไทย                          -     0.037          -           0.19

อื่นๆ                        4.29     4.09        -0.04        17.43

รวมการนำเข้า          18.82    20.02         9.24       100.00

ที่มา: World Trade Atlas, January 2010

ราคาจำหน่ายถ่านอัดในสหรัฐฯ

Domestic: Charcoal Britquette

1. ถ่านไม้เนื้อแข็ง      ขนาดบรรจุ 20 ปอนด์/ถุง   ราคา 6.95-7.50 เหรียญสหรัฐฯ

2. ถ่านกะลามะพร้าว    ขนาดบรรจุ 30 ชิ้น/กล่อง   ราคา 4.99-6.50 เหรียญสหรัฐฯ

3. ถ่านทำจากขี้เลื่อย    ขนาดบรรจุ 10 ปอนด์/ถุง   ราคา 6.50-8.00 เหรียญสหรัฐฯ

Import: (ถ่านอัด)

1. FOB Philippines  0.30-0.40 เหรียญฯ/กิโลกรัม   สั่งซื้อขั้นต่ำ 10,000 กิโลกรัม

2. FOB Malaysia     0.40-0.45 เหรียญฯ/กิโลกรัม   สั่งซื้อขั้นต่ำ 10,000 กิโลกรัม

กฎระเบียบและการนำเข้าในสหรัฐฯ

สหรัฐฯ มีกฎระเบียบแข้มงวดต่อสินค้าถ่านนำเข้า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค กฎระเบียบและข้อปฏิบัติที่ต้องดำเนินการ ได้แก่

1. สินค้าถ่านจะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงาน U.S. Environmental Protection Agency: EPA) ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.epa.gov/oppt/import-export/pubs/sec13.html

2. สินค้าถ่านจะต้องได้รับการตรวจคุณภาพสินค้าจากห้องทดลอง (Laboratories) ซึ่งรับรองโดยสำนักงาน EPA ซึ่งต้องแสดงรายละเอียด โดยมีรายละเอียดครอบคลุม

2.1 ลักษณะและความปลอดภัยของตัวสินค้า (Hazardous Waste Report Characteristic Test of Hazardous Waste)

2.2 การแสดงผลของก๊าซต่างๆ ผลกระทบสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ( USEnvironmental Protection Agency (US-EPA) Method (1978)Oxygen (O2), Nitrogen Oxide (NO), Nitrogen dioxide (NO2), Surful dioxide (SO2), Carbon monoxide (CO), Carbon dioxide (CO2) and Dust.)หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก http://www.epa.gov/oppt/import-export/pubs/sec4.html

3. ถ่านถือว่าเป็นวัตถุไวไฟ จะใช้ขนส่งทางเรือเท่านั้น และจะต้องเป็นเรือสำหรับขนส่งสินค้าประเภทนี้โดยเฉพาะ และต้องมีเอกสารรับรองของ EPA มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำสินค้าออกไปจากท่าเรือ

ข้อแตกต่างสินค้าถ่านอัดของไทยในตลาดสหรัฐฯ

1. การผลิตถ่านอัดในสหรัฐในส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปัจจุบันมีกระบวนการผลิตที่ทันสมัยใช้เทคโนโลยีในการควบคุมมาตรฐานให้สม่ำเสมอ รวมถึงการควบคุมคุณภาพในการผลิตสินค้า ในขณะที่ถ่านอัดของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก มีการลงทุนน้อย ยังขาดเครื่องมือและเทคโนโลยี ที่ทันสมัยตลอดจนการควบคุมคุณภาพจึงมีปัญหาในด้านการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากล

2. รูปแบบของถ่านอัดไทยเป็นแบบแท่งยาว อาจแตกหักง่ายในการขนส่ง ในขณะที่ถ่านอัดที่นิยมในสหรัฐฯ จะมีรูปร่างเป็นก้อนสี่เหลี่ยมมน ซึ่งมีความคล่องตัวในการใช้ และติดไฟได้ง่ายกว่า

3. ผู้ผลิตในสหรัฐฯให้ความสำคัญด้านบรรจุภัณฑ์ใส่ถ่าน ผู้ผลิตไทยควรคำนึงถึงการใช้วัสดุที่ป้องกันความชื้นมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น การเลือกวัสดุที่เหมาะสมและป้องกันความชื้นจากภายนอกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

4. ความได้เปรียบของคู่แข่งในแง่ของราคาและต้นทุนการส่งออก เช่น สินค้าจาก จีนประเทศอินโดนิเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นแหล่งมีที่วัตถุดิบจำนวนมาก และมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยีการผลิตมีผลต่อการแข่งขันเพื่อแย่งชิงตลาดในสหรัฐฯ

5. ค่าใช้จ่ายในการขนส่งค่อนข้างสูง เป็นสินค้ามีน้ำหนัก และเป็นวัสดุไวไฟ จำเป็นต้องขนส่งทางเรือ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าไปตรวจคุณภาพอีกด้วย

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

แม้การผลิตถ่านอัดในสหรัฐฯลดลงเป็นลำดับ ปริมาณการใช้ถ่านอัดในสหรัฐฯ ยังมีอัตราการขยายตัวในระดับปานกลางอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากวิถีการดำรงชีวิตของ ชาวอเมริกัน ที่นิยมการใช้ชีวิตกลางแจ้ง และนิยมชมชอบการปิ้งย่าง(Barbeque) เป็นชีวิตจิตใจ และการย่างโดยใช้ถ่านยังเป็นที่นิยมมากถึงร้อยละ 54 โดยร้อยละ 95 ของผู้บริโภคยังคงใช้ถ่านอัด ในการปิ้งย่างอาหาร จึงเป็นช่องทางและโอกาสของสินค้าถ่านอัดของไทยเข้าไปแข่งขันในสหรัฐฯ และเพื่อให้การแข่งขันประสบความสำเร็จ ผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรพิจารณาประเด็นสำคัญ 4 ประการ คือ

1. รูปแบบผลิตภัณฑ์: ควรมีการศึกษารูปแบบของถ่านอัด ซึ่งทรงแท่งเป็นรูปแบบที่ดีแต่อาจจะไม่คุ้นเคยในกลุ่มผู้บริโภคอเมริกันที่คุ้นเคยกับถ่านก้อนสี่เหลียมมน ถ่านอัดที่มีประสิทธิภาพสูง และ เหมาะกับความต้องการหรือความนิยมของผู้บริโภค เช่น ถ่านก้อนทรงรูปหมอน ( Pillow shape)

2. บรรจุภัณฑ์ที่ใช้: ควรคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องความชื้น ควรใช้พลาสติกประเภท Polyethylene ซึ่งสามารถป้องกันความชื้นได้ ในการห่อหุ้มสินค้า พร้อมกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทนทาน ขนส่งง่าย ใช้งานได้สะดวก และให้ข้อมูลแนะนำการใช้และการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นโดยการพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์ให้สมบูรณ์

3. กลุ่มเป้าหมายในการกระจายสินค้า: เลี่ยงการแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ของสหรัฐฯ คือ Kingford และ Uniflame ซึ่งจำหน่ายตามร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ สินค้าถ่านอัดไทยควรเลือกตลาดเฉพาะ (Niche Market) เช น ตลาด Camping และ ตลาดผู้ขายเตาย่าง BBQ ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายที่เล็กกว่าและการแข่งขันไม่สูงเท่ากับในตลาดทั่วไป

4. ควรพัฒนาและควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพเทียบมาตราฐานสากลและมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน ( ไร้กลิ่น ไร้ควัน ปราศจากสารเคมี ให้พลังงานความร้อนสูง ติดไฟง่าย และยาวนาน) เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th